มาดีไซน์ Prototype ด้วย Figma กันเถอะ

Supawit R
Alchemist
Published in
3 min readApr 11, 2018

--

ผมไปเจอโปรแกรมตัวนึงชื่อ Figma มาจากพี่ Janjie Khemanij มันดีมากเลยจึงอยากมาแบ่งปันกันครับ

หน้าตาโปรแกรม Figma

Prototype คืออะไร

ถ้าแปลตรงตัวอย่างที่ทุกคนเข้าใจมันก็คือ “ต้นแบบ” หรือแบบจำลอง เป็นสิ่งสร้างขึ้นจากไอเดียที่เป็นนามธรรม ให้ออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อให้ทีมหรือคนที่ทำเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่เตรียมจะสร้างหรือพัฒนาขึ้นมา

และไว้หาข้อผิดพลาดหรือช่องโหว่เพื่อนำไปปรับปรุง ซึ่งในการพัฒนาโปรดักส์ที่เป็น เว็บไซต์ หรือแอพลิเคชันเนี่ย เราจะสร้าง Software Prototype ขึ้นมา ร่าง Flow ว่าถ้าผู้ใช้เปิดโปรแกรมมา ตัวผู้ใช้จะต้องเจออะไรบ้าง กดแล้วเกิดอะไรขึ้นมา เปลี่ยนหน้าไหมหรืออย่างไร

ทำ Prototype เพื่ออะไร

  • เพื่อเช็คการออกแบบว่าเป็นไปได้ไหมที่จะพัฒนาออกมา ยากง่ายแค่ไหน
  • เพื่อนำเสนอผลงาน
  • เพื่อให้ทีมเห็นภาพตรงกัน
  • เพื่อใช้อ้างอิงในตอนพัฒนาหน้าตาออกมา ตอนเขียนโค้ดเนี่ยแหละ
  • เพื่อนำออกไปทดสอบกับผู้ใช้งานจริง ให้เขาลองกดลองเล่น เราก็จะรู้ได้ว่าเขาใช้งานยังไง ยากง่ายประมาณไหน ใช้เวลานานแค่ไหน มีอะไรที่ทำให้สับสน แล้วรู้สึกอย่างไร ช่วยให้พัฒนาง่ายโปรดักส์ขึ้น เพราะรู้มากขึ้นว่าผู้ใช้ต้องการแบบไหน สามารถทำให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ง่ายขึ้น
  • เพื่อเก็บ Feedback ที่ได้จากการไปทดสอบ และนำมาปรับปรุง

Figma คืออะไร

มันคือโปรแกรมในการทำ Software Prototype ตัวนึง ที่ให้เราออกแบบหน้าตาการใช้งานของโปรแกรมที่จะพัฒนา ไอตัวโปรแกรมประเภท Software Prototype มันก็มีเจ้าตลาดใหญ่ ๆ อยู่แล้วอย่าง Adobe XD หรือ Sketch

แล้ว Figma ดียังไง

  • ไม่จำกัดค่าย Windows, macOS ก็สามารถใช้งานได้
  • ใช้งานผ่านเว็บไซต์ก็ได้ ไม่ต้องลงโปรแกรม
  • รองรับการทำงานพร้อมกัน เหมือนพวก Google Doc
package ของ Figma

แต่ถ้าหากใครเป็นนักศึกษาคุณก็จะได้ข้อดีอีกอย่างคือ ใช้งานได้เหมือนกับ Professional Team เลย

วิธีการสมัคร Student Plan ลิงค์นี้เลยครับ https://help.figma.com/faqs/setting-up-your-student-account

เป็นไงหล่ะ แค่ฟรีก็กินขาดแล้ว 5555

สิ่งที่ทำใน Figma

DESIGN

ออกแบบหน้าตาของตัวโปรแกรม เช่น ความโค้งมนของกล่อง สีที่ใช้ ขนาดต่าง ๆ หรือกระทั่งฟอนต์ สามารถทำที่ตัวโปรแกรมเองได้เลย ทำให้ไม่ต้องสลับไปทำใน illustrator หรือ photoshop

หน้าตาการทำ design ด้วยโปรแกรม Figma

PROTOTYPE

สร้างจุดเชื่อมโยงของแต่ละ UI ว่าจิ้มจุดใด ให้มันแสดงผลหน้าใหม่ออกมา การใช้งานความรู้สึกเหมือนตอนที่ใช้บน Adobe XD ถ้าจะติก็ตรงพอเอาตัว prototype ไปทดสอบเนี่ยเวลาผู้ใช้กดผิดที่ มันจะขึ้นไกด์ไลน์สีฟ้าขึ้นมาว่าตรงไหนกดได้บ้าง ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่าปิดได้ไหม

หน้าตาการทำ prototype ด้วยโปรแกรม Figma

CODE

เป็นผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจากการทำดีไซน์ เช่น ขนาดของกล่อง ขนาดฟอนต์ สีต่าง ๆ ให้ออกมาเป็นโค้ด จะใช้งานก็ copy and paste ค่าไปใช้ได้เลย

หน้าตาส่วนของ code บนโปรแกรม Figma

ทำอะไรได้อีกบ้างอะ

ผมจะแนะนำเมนูบางส่วนให้นะครับ เริ่มจากเมนูที่อยู่ด้านซ้าย ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ Layers, Components, และ Team Library

เมนูซ้ายมือของโปรแกรม
เมนู Layers

ส่วนที่ 1) Layers ประกอบด้วย Page และ Art board

  • Pages: ทำหน้าที่แบ่งงานเป็นหลายส่วน เช่น หน้าละเวอร์ชัน หรือหน้าละฟีเจอร์
  • Art board: สำหรับจัดการแต่ละหน้าจอของอุปกรณ์ที่สร้างขึ้น สามารถ “จัดกลุ่ม” (grouping)ให้ลากได้ที่ละหลาย ๆ object, “ล็อควัตถุ” ให้ขยับไม่ได้, “ซ่อนการมองเห็น” เหมือนอย่างที่โปรแกรมประเภทดีไซน์จะทำได้
เมนู Components

ส่วนที่ 2) Components

ไว้เก็บวัตถุค่าที่มีการใช้งานซ้ำ ๆ เพื่อให้เรียกใช้ได้ง่าย เช่น เครื่องหมาย ปุ่ม หรือรูปภาพ โดยสามารถสร้างขึ้นมาเองผ่าน Figma หรือ นำเข้ามาจากไฟล์ .png, .svg เป็นต้น

ส่วนที่ 3) Team Library เป็นที่ ๆ เก็บ components ส่วนกลางสำหรับทีมไว้ใช้กับหลาย ๆ งานข้ามโปรเจกต์

เมนู Team Library

ระบบคอมเมนต์บน Figma

ระบบคอมเมนต์เป็นส่วนที่ทำให้การทำงานเป็นทีมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผมใช้เพื่ออ้างอิงต่าง ๆ เช่น กดลิงค์แล้วจะไปเปิดเว็บภายนอก เป็นต้น แล้วก็ไว้ใช้เขียนแจ้งปัญหา เช่น หน้าไหนใช้งานแล้วงง คนในทีมงงตรงส่วนไหน ก็สามารถแจ้งได้ และ Resolve หากปัญหานั้นถูกแก้ไขแล้ว

หน้าตาระบบคอมเมนต์บน Figma

รู้สึกยังไงกับการใช้งาน Figma

หลังจากใช้งานมาบ้างรู้สึกชอบมากกก :) ใช้งานไม่ยาก ช่วยให้ทำงานกับทีมที่ไหนก็ได้ การใช้งานกับเว็บไซต์สะดวกมาก ๆ ไปอยู่ที่ไหนก็ใช้ได้แค่มีอินเทอร์เน็ต งานต่อ ๆ ไปก็คงใช้ตัวโปรแกรมนี้ไปเรื่อย ๆ (รู้สึกขายตรงอย่างบอกไม่ถูก แต่มันก็ดีจริง ๆ นะ 55555)

สำหรับใครที่อยากใช้งานกับ ฟอนต์ที่อยู่ในเครื่องตัวเองก็ลงตัว Desktop App ได้เลย ส่วน Mobile App ก็เอาไว้ Mirror แสดงผลหน้าที่กำลังทำอยู่บนตัวโปรแกรม Figma

รูปภาพจากเว็บไซต์ Figma

สรุป

การทำ Prototype ช่วยให้การทำงานในทีมมีความราบรื่นมากยิ่งขึ้น เพราะ ถ้าทีมเห็นตรงกันเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้งานเสร็จเร็วขึ้นเท่านั้น และมันจะได้ผลลัพธ์ที่ออกมาใกล้เคียงความต้องการของคนใช้งานมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้แหละคือหัวใจของการทำ Prototype

แล้วโปรแกรม Figma ก็มาเติมเต็มการทำงานเป็นทีมด้วยฟีเจอร์ที่ให้ใช้งานพร้อมกันได้หลายคน และระบบคอมเมนต์เนี่ยแหละ เป็นฟีเจอร์ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ทำงานร่วมกันได้เลยไม่ต้องไฟล์กันไปกันมา มีอะไรก็คอมเมนต์ไว้ในโปรแกรม ง่ายต่อการหา ทำให้คิดว่างานต่อ ๆ ไปก็คงจะต้องฝากไว้กับเจ้าตัวโปรแกรมนี้เนี่ยแหละ ประทับใจ ❤️

แล้วก็ feature ของเจ้า Figma เท่าที่นึกออกอะนะ

  • Prototyping — ทำ prototype ได้
  • Commenting— มีระบบคอมเมนต์ไว้คุยกับทีม แจ้งปัญหาและ resolve
  • Using Web Browser — ทำงานผ่านเบราเซอร์
  • Version control — ทำให้ย้อนกลับไปดูสิ่งที่ทำมาแล้วได้
  • Multiplayer collaboration — รองรับการใช้งานพร้อมกันได้หลายคน
  • Live share screen — ดูว่าทีมกำลังทำอะไรอยู่ ดูอยู่หน้าไหน
  • Components — อันไหนใช้บ่อยก็สร้างเป็น Component
  • Team Library — แชร์ resource ร่วมกันในทีม แชร์ข้ามโปรเจกต์
  • Screen Mirror on Mobile — พรีวิวหน้าจอที่กำลังเปิดอยู่บนคอม ให้โชว์บนมือถือ

ของแถม Case Study: KMUTT Election 2018

ภาพ Figma Mirror for iOS ดึงสิ่งที่กำลังเลือกอยู่บนคอมให้มาแสดงบนหน้าจอมือถือ

KMUTT Election 2018 เป็นโปรเจคแรกที่ได้นำ Figma มาใช้ เป็นระบบเลือกตั้งองค์การ และสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งทีม Alchemist ของเราเป็นผู้พัฒนา

ตอนที่มาแตะโปรแกรมครั้งแรกรู้สึกว่าใช้งานง่ายมาก ๆ น่าจะเพราะเคยใช้ Adobe XD มาก่อน ซึ่งไอเจ้า Figma เนี่ยใช้แล้วรู้เลยว่ามันทำให้งานออกมาไวกว่าแต่ก่อน ไม่ต้องมากลัวว่าเห้ยเซฟไปยัง เพราะมันออนไลน์อยู่บนเว็บเซฟให้ตลอด

มันทำให้ได้คุยกับทีมมากขึ้น อย่างเราเห็น cursor ว่าเพื่อนกำลังทำอะไรอยู่ สามารถบอกได้เลยว่า เห้ย! กดเลือกองค์การแล้วมันงง ๆ นะผู้ใช้จะรู้รึป่าว ได้เถียงกันให้งานออกมาดีขึ้น ทีมเดฟหรือคนเขียนโค้ดเข้ามาดูงานได้เลย เพราะงานอัพเดทอยู่ตลอดเวลา

หากใครสนใจอยากอ่านเรื่องราวของการทำระบบ KMUTT Election 2018 ต่อลิงค์ด้านล่างเลยครับ

ถ้าใครสนใจอยากศึกษาเพิ่มเติมก็แนะนำบล็อกของ Figma เองครับ https://blog.figma.com

ใครมีอะไรแลกเปลี่ยน ติชมได้นะครับ ^^

#Alchemist used Figma and you ?

--

--